ต้นปีที่ผ่านมานี้ Kobo (คู่แข่ง Kindle) เปิดศักราชใหม่ด้วยการออกรุ่นใหม่เป็นจอสี ชื่อ Kobo Libra Colour ส่วนตัวใช้ Kobo Libra 2 (รุ่นก่อนหน้าของรุ่นใหม่นี้) มาก่อนอยู่แล้วและค่อนข้างชอบ (ชอบมากกว่า Kindle ที่เคยใช้)
พอรุ่นใหม่เป็นจอสีออกมา ก็เกิดกิเลสสิครับ อยากได้ เพราะ e-ink จอสี เป็นเทคโนโลยีที่รอมานานแล้ว พัฒนามาน่าจะเกิน 10 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ผลิต e-reader เจ้าอื่นเริ่มใช้จอสีมาแล้วซักพัก แต่ Kobo น่าจะเป็นเจ้าใหญ่เจ้าแรกที่เริ่มใช้จอสี (รึเปล่านะ?)
ด้อมๆมองๆ ดูรีวิวมากมาย สุดท้ายก็คิดว่าลองใช้เองดีที่สุด เลยสั่งมาผ่าน Amazon (ใช่ครับ สั่งผ่าน Amazon เว็บคู่แข่งนี่แหละ) ช่วงนี้ฟรีค่าส่งมาไทย แต่โดนภาษีไปหลาย % อยู่
เนื่องจาก Kobo พอเริ่มผลิตรุ่นนี้และเลิกผลิด Kobo Libra 2 ไปเลย แผนของผมก็คือซื้อมาลองใช้ก่อน ชอบอันไหน ก็ขายอีกอันทิ้ง
หลังจากได้ลองใช้มาเกือบ 1 เดือน โดยรวม Kobo Libra Colour นี่แทบจะเหมือน Kobo Libra 2 เลย ต่างแค่อัพเกรดขอเป็นจอสี และรองรับ Stylus (ซึ่งผมไม่ได้ใช้อยู่แล้ว)
จอสี
จอสีเป็นเทคโนโลยีชือ Kaleido 3 แสดงสีได้ดี เห็นหน้าปกหนังสือแล้วอยากเปิดอ่าน แต่แลกมากับอะไรหลายอย่างมาก จอใหม่นี้มันเหมือนพื้นทรายละเอียดๆ แม้ผิวจอจะเรียบแต่เหมือนมีเม็ดเล็กๆเต็มจอ ให้นึกถึงผิวกระดาษชีทการบ้านสมัยเด็กๆ หรือกระดาษหนังสือนิยายเล่มเล็กๆของฝรั่ง อธิบายยากถ่ายรูปก็เห็นไม่ชัด ต้องเห็นด้วยตาตัวเอง
ช่วงแรกรำคาญตาพอสมควรเวลาอ่าน เพราะชินกับจอ Libra 2 ตัวเดิมที่ผิวจอสีขาวนวลตากว่ามาก แต่พอผ่านไปซักอาทิตย์นึง ก็เริ่มชิน อาจมองว่ามันเหมือนกระดาษหนังสือสมัยก่อนก็ได้ แต่ก็ยังชอบพื้นจอ Libra 2 กว่าอยู่ดี เพราะมันเนียนเหมือนกระดาษ green read เลย
จอ Libra Colour เวลาเจอแดด รู้สึกว่าแสงสะท้อนเยอะกว่าจอเดิม และถ้าสังเกตดีๆ คือจะเห็น layer อะไรซักอย่างข้างในจอเป็นตารางด้วย ซึ่ง Libra 2 ไม่มี
Rainbow Effect
เวลาครึ่งนึงที่ผมใช้ Kobo คืออ่านมังงะ และปัญหาที่ไม่คาดคิดกับจอรุ่นใหม่ คือมันเกิด Rainbow Effect เวลาอ่านมังงะ! ดูภาพข้างล่าง
จะสังเกตว่า ส่วนที่เป็นแรงเงาขาวดำ มีแถบสีรุ้งโผล่ออกมา อันนี้ไม่ใช่เพราะผู้ผลิต Woke แต่อย่างใด แต่เป็น side-effect ของจอ Kaleido 3 เอง
หลักการทำงานของจอ Kaleido 3 (เท่าที่เข้าใจ)มันคือ จอ Carta e-ink ขาวดำแบบเดิม แล้ววาง filter อีกหนึ่ง layer ทับอีกที ซึ่ง filter แต่ละ pixel มันจะกรองแสงบางสีออกมาเท่านั้น แล้วหลายๆ pixel รวมแสงออกมาเป็นสีที่ต้องการได้ แต่ทำให้ความละเอียดของภาพขาวดำกับภาพสีก็จะไม่เท่ากัน จาก spec คือ ภาพขาวดำแสดงได้ 300 PPI แต่ ภาพสีแสดงได้ 150 PPI เท่านั้น
ช่อง JerryRigEverything ส่องให้ดูว่า color filter ทีว่า หน้าตาเป็นยังไงแล้วมันเกิดปัญหาว่า ภาพที่มี pattern บางอย่าง(เช่นตารางหมากรุกความละเอียด 1x1 pixel) จะเกิด rainbow effect เพราะ filter บางสีเจอ pixel สีขาวเสมอ ขณะที่ filter บางสีเจอ pixel สีดำเสมอ จนสีบางสีโผล่ออกมามากกว่าปกติ จนเห็นเป็นแถบ และเป็น pattern ชัดเจน
ปัญหานี้ ไม่พบกับหนังสือปกติที่เป็นตัวหนังสือล้วน แต่พบบ่อยในมังงะที่ใช้เทคนิค Dithering เพื่อระบายพื้นที่สีเทาหรือแรงเงาโดยใช้จุดขาวดำเกลี่ยเอา
ฝั่งผู้ผลิต Kobo เองก็เหมือนจะรับรู้ปัญหานี้ มีตัวเลือก Reduce Rainbow Effect ใน settings มาให้ แต่สิ่งที่เค้าทำคือ blur ภาพ ให้ pattern นี้มันหายไปหรือลดลง แต่กลายเป็นภาพก็เบลอนิดหน่อยทั้งหน้าแทน
มีคนพยายามเสนอและแนะนำเปเปอร์วิธีแก้อยู่ FR: Reduce rainbow effect on Kobo Colour ด้วยการ pre-process ภาพด้วย algorithm บางอย่างก่อน แต่ผมลองพยายามทำตามแล้ว ก็ไม่สำเร็จ ส่วนตัวก็นั่งคิดหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่
ล่าสุดฝั่ง Kindle ก็ออกจอสีตามมาแล้วชื่อรุ่น Kindle Colorsoft เท่าที่หาข้อมูลดู ก็เหมือนจะใช้จอ Kaleido 3 เหมือนกัน ก็เดาว่าน่าจะมีปัญหาเดียวกัน
ข้อแตกต่างยิบย่อยอื่นๆ
- รุ่นใหม่นี้ รองรับ Wifi ความถี่ 5 GHz แล้วในที่สุด
- ตอนได้ Libra 2 มาใหม่ๆ ตกใจมาก ที่มันรองรับแค่คลื่น 2.4 GHz
- เร็วขึ้นนิดหน่อย พอรู้สึกได้ แต่ถ้าไม่วางเทียบกัน ก็ไม่รู้
- FW ใหม่แสดงภาษาไทยได้ดี แถมลง English-Thai Dictionary (3rd Party) ได้ด้วย
- ยังไม่ได้ลองลงบน Libra 2 ว่าทำได้เหมือนกันมั้ย
สรุป
ส่วนตัวใช้มา 1 เดือน โอเคดี แต่ deal-breaker คือ Rainbow effect นี่แหละ เพราะอ่านมังงะเยอะ พอเห็นสายรุ้งนี้แล้วหงุดหงิด สุดท้ายถ้าไม่มีวิธีแก้ดีๆ ก็คงต้องกลับไปใช้ Libra 2 แล้วขาย Libra Colour ทิ้ง 😢